ตถาคตพล* เปรียบด้วย รามายนา
สมดังคาถาประพันธ์ที่โบราณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
ตระกูลช้าง ๑๐ ตระกูล นี้คือ
กาฬาวกะ ๑ คังเคยยะ ๑ ปัณฑระ ๑ ตัมพะ๑ ปิงคละ ๑ คันธะ ๑ มังคละ ๑ เหมะ ๑ อุโบสถ ๑ ฉัททันตะ ๑.
ก็ตระกูลแห่งช้าง ๑๐ ตระกูลเหล่านี้. ในตระกูลช้างเหล่านั้น พึงเห็นตระกูลช้างธรรมดาว่า กาฬาวกะ.
กำลังกายของบุรุษ ๑๐ คน เท่ากับกำลังช้างกาฬาวกะ ๑ เชือก.
กำลังของช้างกาฬาวกะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างคังเคยยะ ๑ เชือก.
กำลังช้างคังเคยยะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างปัณฑระ ๑ เชือก.
กำลังช้างปัณฑระ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตัมพะ ๑ เชือก.
กำลังช้างตัมพะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างปิงคละ ๑ เชือก.
กำลังช้างปิงคละ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างคันธะ ๑ เชือก.
กำลังช้างคันธะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างมังคละ ๑ เชือก.
กำลังช้างมังคละ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างเหมวัต ๑ เชือก.
กำลังช้างเหมวัต ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างอุโบสถ ๑ เชือก.
กำลังช้างอุโบสถ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างฉัททันตะ ๑ เชือก.
กำลังช้างฉัททันตะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังพระตถาคต ๑ พระองค์.
*ตถาคตพละนี้นั้นเทียวเรียกว่ากำลังรวมของพระนารายนะบ้าง. กำลังนี้นั้น เป็นกำลังช้างพันโกฏิ ด้วยการนับช้างธรรมดา เป็นกำลังบุรุษสิบพันโกฏิ ด้วยการนับบุรุษ. นี้เป็นกำลังกายของพระตถาคต…. *ความจาก ฉบับ มมร. เล่ม ๑๘ หน้า ๗๓ ,๗๔ บรรทัดที่ ๑๒-๒๔ ,๑-๕
คำอธิบาย

รามเกียรติ์ มิใช่วรรณกรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของไทย หรือของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่มีที่มาจาก “รามายณะ” ของอินเดีย ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ดินแดนแถบนี้ได้มีการติดต่อกับชาวอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 8 เนื่องจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสินค้าที่ชาวอินเดียต้องการ คือ เครื่องเทศ ยางไม้หอม และไม้หอม เป็นต้น การติดต่อค้าขายนี้มีผลพวงที่ตามมา คือการติดต่อเผยแพร่ทางอารยธรรม มีทั้งที่ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาเผยแพร่โดยตรง รับผ่านจากประเทศข้างเคียง และจากการที่คนในดินแดนนี้เดินทางไปศึกษาในอินเดีย และรับเอาอารยธรรม ความรู้ และตำราต่างๆ มาเผยแพร่
รามายณะ เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เข้าใจว่าพ่อค้าชาวอินเดียคงเป็นผู้นำมาเผยแพร่ในไทย แต่แรกคงมาในรูปแบบของการถ่ายทอดทางมุขปาฐะ คือเป็นการเล่า “นิทานเรื่องพระราม” และต่อมาจึงได้จดจารลงเป็นวรรณกรรมของไทย ซึ่งการจดจารนี้มิใช่เป็นการคัดลอก แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ตามฉันทลักษณ์ร้องกรองไทย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อเรื่องของรามเกียรติ์กับรามายณะแล้ว พบว่ารามเกียรติ์ของไทยมีรายละเอียดเนื้อหาไม่ตรงกับรามายณะฉบับหนึ่งฉบับใดโดยเฉพาะ แต่มีความพ้องกับรามายณะของอินเดียหลายฉบับ และมีบางส่วนพ้องกับรามายณะของประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจได้ว่ารามเกียรติ์ของไทยคงมิได้ถ่ายทอดจากรามายณะฉบับใดโดยตรง หากแต่ประมวลเอาเนื้อเรื่องจากสำนวนต่างๆ โดยคัดเลือกในส่วนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม อุปนิสัยและวิสัยทัศน์ของคนไทย
รามายณะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยมีทั้งที่มาจากอินเดียโดยตรง หรือผ่านชาติเพื่อนบ้าน เช่น ชวา มลายู โดยมีการเผยแพร่เข้ามาเป็นระยะๆ มิได้มาในครั้งเดียว ทั้งในรูปแบบของวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์ จึงทำให้เนื้อเรื่องผิดเพี้ยนไปบ้าง โดยสรุปรามเกียรติ์ของไทยมีแหล่งที่มาดังนี้
- นิทานเรื่องพระราม เป็นนิทานพื้นบ้านที่ชาวอินเดียจำได้ติดปากติดใจ มีความเก่าแก่ก่อนรามายณะของวาลมิกิ
-
รามายณะของวาลมิกิ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของรามเกียรติ์รับจากรามายณะฉบับนี้ แต่ได้มีการดัดแปลง ตัดทอน และนำเนื้อเรื่องของรามายณะฉบับอื่นมาเพิ่มเติมด้วย เช่น• ตอนอภิเษกพระรามกับนางสีดา ในฉบับนี้ พระลักษมณ์ได้อภิเษกกับนางอุรมิลาน้องนางสีดา พระภรต (ไทย : พรต) พระสัตรุดอภิเษกกับนางมาณฑวีและนางศรุตกีรติ หลานท้าวชนกตามลำดับ ซึ่งในรามเกียรติ์ของไทยไม่มี แต่กลับมีการเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยจากฉบับทมิฬเข้าไป เพื่อเพิ่ม “รส” ให้วรรณกรรม คือ ให้พระรามได้สบตากับนางสีดาตอนยกศร• ในรามเกียรติ์ของไทย นางสวาหะถูกนางกาลอัจนาสาปให้ “ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม” เพราะโกรธที่ไปบอกความจริงกับพระฤๅษีโคดม แต่ในฉบับของวาลมิกินี้ นางกาลอัจนาเป็นผู้ถูกฤๅษีโคดมสาป เป็นต้น
-
รามายณะของอินเดียตอนใต้ ได้แก่ รามายณะของทมิฬและรามายณะของเบงคลี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ติดต่อกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชาวอินเดียตอนใต้ ดังนั้น รามเกียรติ์ของไทยจึงรับเอาอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดียตอนใต้ไว้ด้วย เนื้อเรื่องในรามเกียรติ์ของไทยที่ต่างจากฉบับของวาลมิกิ ส่วนใหญ่พบว่าตรงกับฉบับของทมิฬและเบงคลีนี้ เนื้อเรื่องในรามเกียรติ์ที่พ้องกับฉบับนี้ แต่ไม่พบในฉบับวาลมิกิ เช่น• เทพบริวารของพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระพรต พระสัตรุด และพระลักษมณ์• เรื่องของนางมณีเมขลาและรามสูร• พระรามกับนางสีดาสบตากันตอนยกศร• พระมงกุฎและพระลบลองศร• พระรามรบกับพระมงกุฎฯลฯ
จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องส่วนที่เพิ่มเติมมานี้ ไทยเรารับเอามาเพื่อช่วยชูรสรามเกียรติ์ให้สนุกสนานขึ้น
-
หนุมานนาฏกะ เนื้อเรื่องรามเกียรติ์ที่ตรงกับหนุมานนาฏกะแต่ไม่มีในฉบับวาลมิกิ เช่น• ตอนหนุมานถวายแหวน แต่ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยเพิ่มตอนหนุมานลองฤทธิ์กับฤๅษี• ตอนนางลอย• ตอนจองถนน แต่ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยเพิ่มเนื้อเรื่องให้หนุมานวิวาทกับนิลพัท และเพิ่มตอนหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา• ตอนหอกโมกขศักดิ์• ตอนศรพรหมาสตร์ มีตอนอินทรชิตแปลง และหนุมานหักคอช้างเอราวัณ (ไม่มีในฉบับวาลมิกิ)• ตอนมณโฑหุงน้ำทิพย์• ตอนหนุมานถวายตัวกับทศกัณฐ์
-
หิกะยัตศรีราม ของมลายู เช่น ตอนนางสีดาทิ้งแหวนลงในปากนกจตายุ (ไทย : สดายุ) เพื่อแสดงว่ามหาราชาราวณะ (ไทย : ทศกัณฐ์) ลักนางมา
-
วิษณะปุราณะ ไทยรับมาในเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดตัวละคร
-
รามายณะสันสกฤต ฉบับองคนิกาย เนื้อเรื่องที่พ้องกับของไทยคือ ตอนพระมงกุฎพระลบ
-
ส่วนที่ไทยแต่งเติม โดยเพิ่มเติม คติชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีแบบไทยๆ ซึ่งไม่พบในฉบับอื่น เช่น• การฆ่าหนุมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใส่ครกตำ ให้ช้างแทงและฟันแทงด้วยอาวุธ เป็นต้น• การปูนบำเหน็จทหารด้วยการให้นางกำนัล ทรัพย์ศฤงคาร ผ้าชุบสรง ในรามายณะมีเพียงการชมเชยเท่านั้น• หนุมานดับไฟที่หางด้วยน้ำบ่อน้อยหรือน้ำลาย แต่รามายณะดับด้วยน้ำในมหาสมุทร• ให้พระอินทร์ลงมาช่วยพระรามแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ถึง 5 ครั้ง• ทศกัณฐ์ถอดดวงใจ และกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ฯลฯ
วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นก่อนพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่รวมวรรณกรรมท้องถิ่น ได้แก่
- นิราศสีดา หรือราชาพิลาปคำฉันท์
- บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมัยอยุธยา ตอนพระรามประชุมพล – องคตสื่อสาร
- คำพากย์เรื่องรามเกียรติ์ สมัยอยุธยา ตอนนางสำมนักขายอโฉมนางสีดา – กุมภกรรณล้ม
- รามเกียรติ์คำฉันท์ สมัยอยุธยา จำนวน 4 เล่มสมุดไทย
- โคลงทศรถสอนพระราม พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- โคลงพาลีสอนน้อง พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มี 4 ตอน คือ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และตอนพระมงกุฎ
เมื่อพิจารณาดูวรรณกรรม “รามเกียรติ์” สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ที่หลงเหลืออยู่ จะเห็นได้ว่าจะหาฉบับที่สมบูรณ์ครบถ้อยกระบวนความมิได้ เพราะชำรุดเสียหายจากภัยสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำนุบำรุงวรรณกรรมของชาติไว้ให้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลังสืบไป และเพื่อเป็นสิ่งแสดงความเจริญของบ้านเมือง ดังความใน “ตำนานละครอิเหนา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า
“การมหรสพต่างๆ ซึ่งเสื่อมทรามแต่ครั้งเสียกรุงเก่ามากลับมีบริบูรณ์ขึ้น เมื่อในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพยายามก่อกู้การทั้งปวงโดยมีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพมหานคร รุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดีอยู่แต่ก่อน แม้เครื่องมหรสพเป็นต้นว่าโขนหุ่นของหลวงก็โปรดให้หัดขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า แต่ละครผู้หญิงนั้นมีแต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียวตามแบบกรุงเก่า บทละครในที่ขาดหายไปแต่ก่อน ก็โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทกลอน ช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไข แล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครครบทุกเรื่อง มีเรื่องรามเกียรติ์ 116 เล่มสมุดไทย เรื่องอุนรุท 18 เล่มสมุดไทย เรื่องดาหลัง 32 เล่มสมุดไทย เรื่องอิเหนา 32 เล่มสมุดไทย”
บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์นี้ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง จุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340) โดยทรงแสดงพระราชปณิธานไว้ในบทร่ายเกริ่นนำเรื่อง …
— คำอธิบายจากห้องสมุดวชิรญาณ รูปภาพประกอบเรื่องจาก wikimedia